หากจะพูดถึงเรื่องราวของรอยสัก เราเชื่อว่าบรรดาเหล่าวัยรุ่นหลาย ๆ คนมักจะนึกถึงรูปภาพเท่ หรือ การลงสีสวย ๆ ที่อยู่บนร่างกายของคนเราซะมากกว่า เนื่องจากอิทธิพลของรอยสักในรูปแบบนี้ได้ถูกเข้ามาเผยแพร่ในสังคมไทยมาอย่างช้านาน ซึ่งการที่เราได้เห็นสิ่งเหล่านี้จนชินตาทำให้บางครั้งเราก็ลืมนึกถึงรอยสักที่มีความดั้งเดิมของไทย นั่นก็คือ การสักยันต์
โดยภายในเว็บไซต์ของเราได้มีการอธิบายถึงการสักยันต์ไปอยู่พอสมควรแล้ว ซึ่งคุณสามารถลองเข้าไปค้นหาเพื่ออ่านบทความเกี่ยวกับการสักยันต์ต่าง ๆ ของไทยได้ ซึ่งส่วนใหญ่เนื้อหาที่เรานำเสนอก็มักจะเป็นการเล่าถึงเรื่องราวความเชื่อหรือ อิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ของยันต์ประเภทนั้น แต่ทว่าในครั้งนี้ เราจะพาทุก ๆ คนไปพบกับเรื่องราวที่ชวนทึ่งยิ่งกว่า
นั่นก็เพราะว่าในครั้งนี้เราขอกล่าวถึงเรื่องราวของ ความเชื่อเรื่องรอยสักที่ได้รับผลมาจากพระพุทธเจ้ากัน ซึ่งแค่นี้หลาย ๆ คนก็อาจจะคิดว่าดูยังไงมันก็ไม่เข้ากัน งั้นเอาเป็นว่าเพื่อการอธิบายให้ชัดเจนขึ้น เรามาอ่านเรื่องราวในครั้งนี้กันเลยดีกว่า
อิทธิพลของรอยสักที่มีมาแต่โบราณ
อย่างที่เราบอกในหลาย ๆ ครั้งว่าการสักนั้นมีมาตั้งแต่โบราณ และ ในโซนเอเชียของเราเองก็เช่นกัน โดยเริ่มแรกนั้นรอยสักจะมีการแพร่หลายเป็นเฉพาะกลุ่มโดยผู้ที่นิยมสักส่วนมากมักจะอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย หรือนั่นก็คือ บริเวณอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง ซึ่งทั้ง 2 อาณาจักรนี้จะกินระยะเข้าไปถึงรัฐฉานในพม่า รวมถึงสิบสองปันนาและสิบสองจุไทในประเทศจีนเลยทีเดียว
โดยลวดลายของแต่ละกลุ่มก็จะแตกต่างออกไป ยกตัวอย่าง กลุ่มลาวพุงดำมักจะนิยมสักไปทั่วร่างกาย โดยบางคนนั้นสักแทบจะหมดร่างกายโดยจะเหลือไว้เพียงแค่หน้าผากเท่านั้น ส่วนกลุ่มอย่างลาวพุงขาวก็มักจะเป็นกลุ่มที่นิยมการสักตั้งแต่ช่วงเข่าไปจนถึงช่วงขาส่วนบน
เรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวข้องกับรอยสัก
นอกจาก 2 เผ่าที่เรากล่าวไปแล้ว ประเพณีการสักยังได้ความนิยมในหมู่ของไทในสิบสองปันนาและสิบสองจุไทในประเทศจีน และความนิยมในการสักของ 2 ชนเผ่านี้นี่แหละที่มันได้ก่อให้เกิดตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเพณีการสักของกลุ่มชนทั้งหลายทางตอนเหนือขึ้น
โดยมีเรื่องเล่าว่าในสมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน บรรดาเหล่าหัวเมืองต่าง ๆ ในอดีตต่างก็ยกทัพของตัวเองเพื่อที่จะมาแย่งชิงองค์พระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งทัพที่ยกมาในตอนนั้นมีทั้ง เมืองจำปา เมืองสักกะ เมืองวิเทหะ กรุงราชคฤห์ ซึ่งการยกทัพมาของหัวเมืองใหญ่เหล่านี้นี่เองที่ทำให้เกิดการล้มตายจากสงครามเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดโทณพราหมณ์ก็ได้เป็นผู้แจกองค์พระสารีริกธาตุให้กับบรรดาหัวเมืองใหญ่ต่าง ๆ และได้มีการแสดงศีลเพื่อให้แต่ละเมืองสามัคคีกัน และหลังจากนั้นบรรดาเหล่าหัวเมืองต่าง ๆ จึงได้แยกย้ายกันกลับไป
หลังจากเหตุการณ์นั้นพวกยูนนาน ก็ได้เดินทางไปเมืองกุฉินารายณ์เพื่อขอพบกับกษัตริย์วัลลิปาโมกข์ โดยจุดประสงค์ในการเดินทางครั้งนี้ก็เพื่อที่จะขอองค์สารีริกธาตุ แต่ทว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาก็พบว่าองค์สารีริกธาตุนั้นถูกแบ่งออกไปให้บรรดาเหล่าเมืองเล็กเมืองน้อยที่เป็นบริวารจนหมดแล้ว อีกทั้งองค์สารีริกธาตุที่ถูกแบ่งยังได้ถูกจัดทำใส่ในเจดีย์บรรจุองค์พระสารีริกธาตุเป็นที่เรียบร้อยแล้วอีกด้วย
แต่เมื่อเดินทางมาแล้วจะให้กลับมือเปล่าก็ไม่ใช่เรื่อง ทางกษัตริย์วัลลิปาโมกข์จึงได้บอกกับทางกษัตริย์เมืองยูนนานว่าตอนนี้สิ่งที่เหลืออยู่ก็มีเพียงแค่เถ้าถ่าน หรือ พระอังคารของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองทางกษัตริย์เมืองยูนนานจึงได้นำสิ่งนั้นกลับมายังบ้านเมืองของตน และต่างก็ยึดถือสิ่งนี้เป็นที่เคารพบูชา โดยการตั้งอธิษฐานว่า อยากให้เถ้าถ่านเหล่านั้นแทรกซึมเข้าไปตามเนื้อตัว จนในที่สุดบรรดาเหล่ากษัตริย์ของยูนานก็มีร่างกายที่มีพละกำลังมากกว่าคนอื่น พร้อมทั้งร่างของพวกเขายังมีลวดลายต่าง ๆ เกิดขึ้นด้วย
และจากตำนานนี้เองที่ทำให้ชาวไทยยูนนานในแคว้นสิบสองจุไท รวมถึงพวกไทยใหญ่ ต่างก็ยึดถือเอาความเชื่อนี้ด้วยการสักลายต่าง ๆ ตามตัวเพื่อหวังที่จะได้ผลทางอิทธิฤทธิ์ของเวทมนตร์คาถาและยันต์ต่างๆ
ซึ่งแม้ว่าเราไม่อาจจะพิสูจน์ได้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นความจริงตามที่ตำนานได้กล่าวเอาไว้หรือไม่ แต่อย่างน้อยเรื่องราวเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในความเชื่อท้องถิ่นที่สามารถผนวกเรื่องราวของการสักเพื่อให้ผลลัพธ์ทางเวทมนตร์คาถา เข้ากับเรื่องราวทางหลักศาสนาพุทธที่มีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกได้อย่างกลมกลืน
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของ ความเชื่อเรื่องรอยสักที่ได้รับผลมาจากพระพุทธเจ้า ที่เราเอามาให้ทุกคนได้อ่านกัน ซึ่งแม้ว่าตำนานจะดูเวอร์เกินจริงไปสักหน่อยก็ตาม แต่อย่าลืมว่า ความเชื่อใคร ความเชื่อมัน และมันก็ไม่ผิดเลยที่เราจะเชื่ออะไรสักอย่างเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เหมือนกับเรื่องนี้