สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับรอยสักมาสักระยะหนึ่ง คุณน่าจะพอรู้อยู่แล้วใช่ไหมล่ะว่าจุดเริ่มต้นของรอยสักในอดีตกับสถานะทางสังคมของมันในปัจจุบันนั้นค่อนข้างแตกต่างกันเป็นอย่างมาก แต่ก็ใช่ว่ารอยสักในปัจจุบันจะถูกนำมาตีความเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแฟชั่นซะหมด เพราะว่าในหลาย ๆ ประเทศนั้น รอยสักที่อยู่บนร่างกายนั้นก็ยังมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และ ประเพณีทางวัฒนธรรมต่าง ๆ และความเชื่อเหล่านั้นก็ยังคงฝังรากลึกไม่เคยเสื่อมคลาย ซึ่งนั่นเองจึงกลายเป็นหัวข้อที่เราจะมาพูดคุยกันในครั้งนี้ กับเรื่องราวของ ความเชื่อของรอยสักที่กลายเป็นเครื่องหมายของสังคม และ วัฒนธรรม ซึ่งความเชื่อเหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง เอาเป็นว่าเราไปเริ่มต้นเรื่องราวในครั้งนี้กันเลยดีกว่า
รอยสักในแอฟริกา
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเมื่อหลายพันปีก่อนในทวีปแอฟริกานั้นผู้คนต่างเชื่อว่า รอยสักนั้นคือยาที่สามารถรักษาโรคได้ โดยในตอนนั้นได้มีความเชื่อว่า รอยสักจะเหมือนเป็นสิ่งมีไว้เพื่อสื่อสารกับผู้พิทักษ์ทางวิญญาณ จึงทำให้ยุคสมัยนั้นบรรดาเหล่าชนเผ่าต่าง ๆ ในแอฟริกานั้นมีแผลเป็นที่เกิดขึ้นจากรอยสักเป็นจำนวนมาก
โดยทางแอฟริกาเหนือนั้นจะมีชนเผ่าที่ชื่อว่า อามาซิก โดยพวกเขาเหล่านั้นจะมีรอยสักอยู่บนหน้าผาก รอบดวงตา และ
ฝ่ามือ ซึ่งนอกจากจะมีไว้สำหรับตกแต่งเพื่อความสวยงามแล้ว มันยังเป็นเสมือนกระดานความทรงจำร่วมกันของชนเผ่า นอกจากนั้นแล้วรอยสักเหล่านี้มันยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานภาพของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตามในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาวัฒนธรรมของรอยสักเหล่านี้ก็ได้ลดลงเพราะส่วนหนึ่งนั่นก็คือเข้ามาของอิทธิพลทางศาสนาอิสลามที่ห้ามสักนั่นเอง
นอกจากเรื่องราวของรอยสักแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องราวความเชื่อของชาวแอฟริกานั่นก็คือ การทำให้ผิวหนังเป็นแผลเป็น ซึ่งในยุคหนึ่งหลาย ๆ คนก็นับว่าวิธีนี้ถือได้ว่าเป็นการสักอีกรูปแบบหนึ่ง โดยศิลปะแบบนี้จะใช้มีดเฉือนไปที่ผิวหนังเพื่อให้แผลเป็นนั้นกลายเป็นลวดลายต่าง ๆ แบบถาวร ซึ่งรูปของรอยสักชนิดนี้ที่เรามักจะได้เห็นผ่าน ๆ ตากันมาบ้างนั้นก็คือการทำผิวหนังจระเข้ ซึ่งความเชื่อแต่เดิมในการทำให้ผิวหนังเป็นรอยแผลเป็นแบบนั้นเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์ของชนเผ่า
นอกจากนั้นการทำแบบนี้สำหรับคนหนุ่มสาว มันจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า และ พัฒนาไปสู่ชีวิตอีกขั้นหนึ่ง จนทำให้ผิวหนังในลักษณะนี้ถูกเรียกว่า ผิวทางสังคม ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าวเองก็ไม่ได้มีเพียงแค่แอฟริกาเท่านั้น แต่มันยังมีอยู่ในประเทศอย่างออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์
รอยสักในญี่ปุ่น
ข้ามกลับมาที่ทวีปเอเชียของเราบ้าง โดยประเทศที่ถือได้ว่ามีเอกลักษณ์ค่อนข้างโดดเด่นในเรื่องของรอยสักมากที่สุดในทวีปแห่งนี้ก็คงหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น โดยรอยสักของประเทศญี่ปุ่นนั้นจะมีชื่อเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า อิเรซึมิ ซึ่งมันจะแปลว่าการใส่หมึก
โดยรอยสักของญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมนั้นเริ่มต้นมาจากชาว ไอนุ โดยพวกเขาจะมีวัฒนธรรมการสักเพื่อเป็นการตกแต่งร่างกายให้บอกสถานะทางสังคมต่าง ๆ แต่ก็น่าเสียนิดหน่อยที่ในปัจจุบันนี้กลับมีชาวไอนุเพียงไม่กี่คนที่ยอมทำตามวัฒนธรรมนี้
ส่วนรอยสักญี่ปุ่นในสังคมสมัยก่อนที่แพร่หลายและพบเห็นได้ทั่วไปส่วนใหญ่มันจะเป็นความหมายในเชิงลบเนื่องจากมันมักเข้าไปผัวพันกับกลุ่มอาชญากรต่าง ๆ โดยรอยสักพวกนั้นจะเป็นการบังคับให้ผู้ที่เข้าร่วมแก๊งสักลงไปบนร่างกายเพื่อแสดงถึงความภักดี และ ผลเหล่านี้นี่แหละที่มันได้ส่งต่อเนื่องมาในปัจจุบัน จนเราได้เห็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของญี่ปุ่นมักจะห้ามคนที่มีรอยสักใช้บริการ
และหลาย ๆ คนอาจจะไม่รู้ว่าในช่วงทศวรรษ 1600 ของประเทศญี่ปุ่นนั้น ทางการได้มีการออกนโยบายให้อาชญากรทุกคนต้องสัก โดยการกระทำนั้นจะถูกเรียกว่า โบเก้ หรือ การลงโทษด้วยรอยสักนั่นเอง และการกระทำครั้งนั้นนี่เองที่ทำให้กระแสการตีตราคนมีรอยสักในสังคมยิ่งแย่ลงไปอีก
รอยสักในอินเดีย
เรื่องราวของรอยสักในประเทศอินเดียเองก็จะคล้ายคลึงกับประเทศอื่น ๆ โดยวัฒนธรรมรอยสักของอินเดียนั้นก็จะมีความแตกต่างกันไปทางชนเผ่าต่าง ๆ โดยบางชนเผ่าของอินเดียนั้นจะมองว่ารอยสักนั้นเปรียบเสมือนกับเครื่องประดับอันงดงามที่อยู่บนเรือนร่างซึ่งไม่สามารถมีใครขโมยไปได้ นอกจากนั้นแล้วยังมีชนผ่าที่ชื่อว่า น็อคเต้ และ วานโชส ซึ่งเชื่อว่าผิวที่มีรอยสักนั้นมันจะแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง และ กล้าหาญ เพราะขั้นตอนการสักนั้นต้องผ่านความเจ็บปวดมาก
นอกจากการแสดงออกถึงความเชื่อแล้ว รอยสักในประเทศอินเดียนั้นยังแสดงให้เห็นถึงเรื่องของเพศอีกด้วย เพราะรอยสักบางรอยสักนั้นจะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ในการตีตราหญิงสาวคนหนึ่งเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเธอนั้นถูกชายจากชนเผ่าอื่น ๆ ขโมยไป โดยชนเผ่าอย่าง สิงห์โป นั้นผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะมีรอยสักที่หัวเข่า และ ข้อเท้า ส่วนทางด้านผู้ชายนั้นจะมีรอยสักอยู่ที่บริเวณมือ
ส่วนทางด้านผู้หญิงของชนเผ่ากูเตียคอนธ พวกเธอมักจะมีรอยสักบนใบหน้าเป็นรูปทรงเรขาคณิต โดยเชื่อว่ามันจะทำให้พวกเขาสามารถจำกันได้ในโลกหลังความตาย และ มันยังเป็นรอยสักที่ช่วยปกป้องสิ่งเหนือธรรมชาติอีกด้วย
และทั้งหมดนี้ก็คือ ความเชื่อของรอยสักที่กลายเป็นเครื่องหมายของสังคม และ วัฒนธรรม ในทวีป และ ประเทศต่าง ๆ ที่เราได้นำเอามาฝากทุก ๆ คน ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันรอยสักนั้นจะมีการพัฒนาไปไกลมาแล้วก็ตาม แต่เราก็อยากให้คุณได้รับรู้ว่า ในมุมมุมหนึ่งของโลก ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับรอยสักที่มันไม่ได้เกี่ยวพันกันในแง่ของแฟชั่นแอบซ่อนอยู่